งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 50 จัดที่สถานีกลางบางซื่อ

50 ปีงานสัปดาห์หนังสือ ปักหมุด สถานีกลางบางซื่อ “รถไฟ” ใจป้ำไม่คิดค่าเช่า เผยความเป็นมาจากโรงละครแห่งชาติถึงความเฟื่องฟู ณ ศูนย์สิริกิติ์ และเริ่มใหม่อีกครั้งที่บางซื่อ

วันที่ 17 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 เห็นชอบให้ใช้พื้นที่สถานีกลางบางซื่อจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 50 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20 ได้ในช่วงวันที่ 21 มีนาคม – 8 เมษายน 2565 รวม 19 วัน จากนั้นผู้จัดงานเลือกกำหนดจัดงานระหว่าง วันที่ 26 มีนาคม – 5 เมษายน 2565 โดยใช้พื้นที่รวมไม่เกิน 20,000 ตารางเมตร

โดยจะใช้พื้นที่บริเวณประตู 1 โซนของรถไฟสายสีแดงทั้งหมด ตั้งแต่บริเวณโถงด้านหน้ารวมถึงชั้นลอย และด้านใน รวมประมาณ 20,000 ตารางเมตรในการจัดงาน อนุมัติในการใช้พื้นที่ระยะสั้นหรือชั่วคราวและยกเว้นค่าเช่าด้วย เพราะเป็นงานสำคัญระดับชาติ และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์รถไฟ และเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบสถาปนาองค์กรครบ 125 ปี

บริเวณโถงชั้น 1 และชั้นลอย สถานีกลางบางซื่อ ที่คาดว่าจะเป็นพื้นที่จัดงานสัปดาห์หนังสือช่วง มี.ค.-เม.ย. 2565 นี้

50 ปี งานสัปดาห์หนังสือ

หากนับถึงปีนี้ งานสัปดาห์หนังสือจัดมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 50 แล้ว ย้อนกลับไปดูที่จุดเริ่มต้นของงานสัปดาห์หนังสือ ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2515 ครั้งนั้นเจ้าภาพคือกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ และคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ โดยเลือกสังคีตศาลา โรงละครแห่งชาติ เป็นสถานที่จัดงานหนังสือครั้งแรก ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะย้ายไปจัดในหลาย ๆ สถานที่ทั้งสวนลุมพินี โรงเรียนหอวัง สนามหลวง คุรุสภา และถนนลูกหลวง ข้างกระทรวงศึกษาธิการ

จนกระทั่งในปี 2539 จำนวนคนมาร่วมงานมีมากขึ้น ผู้จัดงานจึงจัดงานสัปดาห์หนังสือปีละ 2 ครั้ง จากเดิมจัดปีละครั้งช่วงเดือนมีนาคม – เมษายนของทุกปี ก็เพิ่มการจัดงานในช่วงเดือนตุลาคมขึ้นอีกครั้ง ซึ่งในภายหลังในช่วงเดือนตุลาคมจะมีชื่องานหนังสือว่า “งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ” ส่วนงานสัปดาห์หนังสือไว้ใช้เรียกในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายนของทุกปี

และในปี 2544 ก็ถือเป็นปีแห่งความเปลี่ยนแปลงอีกครั้งของงานสัปดาห์หนังสือ เมื่อมีการย้ายการจัดงานจากข้างหอประชุมคุรุสภา มาใช้ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เป็นครั้งแรก โดยในครั้งนั้นมีจำนวนคนมาเดินเยี่ยมชมงานถึง 440,000 คน เพิ่มขึ้นจากสถานที่เดิมกว่า 100,000 คนเลยทีเดียว

“ยอมรับว่าขายดีมาก ทุกสำนักพิมพ์พอใจกันทั้งนั้น ศูนย์การประชุมสิริกิติ์ดีกว่าคุรุสภา พร้อมหมดทุกอย่าง น่าจะเป็นทางออกที่ดีของสำนักพิมพ์ที่จะได้เงินสดมาผลิตหนังสือต่อไป ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นตลาดทางอ้อม” วินัย ชาติอนันต์แห่งสำนักพิมพ์เคล็ดไทยกล่าวกับสื่อในช่วงนั้น

บรรยากาศงานสัปดาห์หนังสือที่ศูนย์ฯสิริกิติ์ ภาพจากมติชนออนไลน์

แต่หลังจากยืนระยะจัดงานที่ศูนย์ฯสิริกิติ์มาได้ 18 ปี ก็ถึงเวลาต้องหาที่ใหม่อีกครั้ง เมื่อบริษัท เอ็น.ซี.ซี.แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (NCC) ผู้บริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ต้องการปิดปรับปรุงสถานที่แห่งนี้ หลังยืนระยะจัดงานต่างๆมายาวนาน 27 ปี โดยตัวเลือกที่กลายเป็นสถานที่จัดงานต่อมาคือ อิมแพค เมืองทองธานี


อย่างไรก็ตาม การจัดงานที่เมืองทองธานีก็จัดไปได้ไม่กี่ครั้งเท่านั้น เพราะมีกระแสวิจารณ์ถึงการเดินทางที่ยากลำบาก และประกอบกับเมื่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดในช่วงต้นปี 2563 ทำให้การจัดงานสัปดาห์หนังสือต้องย้ายไปจัดออนไลน์แทน เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาด ก่อนที่จะกลับมาจัดงานที่เมืองทองธานีอีก 1 ครั้ง แล้วย้ายไปจัดที่ไบเทคบางนา 1 ครั้ง แล้วกลับมาจัดแบบออนไลน์ในงานครั้งล่าสุดเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา